ยามะไดคันโช

ยามะไดคันโช

หมายเลขจดทะเบียน 64
ชื่อของ GI ยามะไดคันโช
การแบ่งประเภท ผัก ธัญพืช พัลส์
วันที่ลงทะเบียน 2018/08/06
พื้นที่ทำการผลิต จังหวัดคาโกชิมะ
เมืองคุชิมะ
ติดต่อที่อยู่

Kushima City Otsuka Agricultural Cooperative

5237-1 Oaza Naru, Kushima City, Miyazaki Prefecture

http://yamadai.ja-miyazaki.jp/

พื้นที่ผลิต

"ยามะไดคันโช" เป็นมันเทศหน้าตาสวยสีแดงสดเงางาม ลักษณะเด่นคือเนื้อมันเทศสีเหลืองอ่อน เมื่อนำไปผ่านความร้อนจะมีสัมผัสการเคี้ยวร้อนกรุ่นที่ร่วนซุยกับรสหวานละมุน
 ผลลัพธ์จากการจัดหามันเทศคุณภาพดีสำหรับส่งขายตลาดผักผลไม้สดอย่างคงเส้นคงวามาตลอดตั้งแต่ยุคปี 1960 เป็นต้นมา ทำให้ได้รับการประเมินอย่างสูงจากผู้เกี่ยวข้องกับตลาดญี่ปุ่นตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งส่งขายหลักว่า "ถ้าพูดถึงมันเทศ จะนึกถึงยามะไดคันโช"

การผลิต "ยามะไดคันโช" ใช้ "มิยาซากิเบนิ" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มาจาก "โคเคย์ 14" ในการเพาะปลูก (กรณีที่เกิดภัยธรรมชาติและอื่นๆ อาจใช้ "โคเคย์ 14" หรือสายพันธุ์อื่นที่มาจากสายพันธุ์นี้) "อุโมงค์ขุดเร็วมาก (โดยทั่วไปจะลงต้นกล้าตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. และเก็บเกี่ยวตอน มิ.ย.-ก.ค.)", "อุโมงค์ขุดเร็ว (โดยทั่วไปจะลงต้นกล้าตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. และเก็บเกี่ยวตอน ก.ค.-ส.ค.)", "อุโมงค์ขุดช้า (โดยทั่วไปจะลงต้นกล้าตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. และเก็บเกี่ยวตอน ก.ย.-พ.ย.)" อย่างใดอย่างหนึ่ง
 หลังเก็บเกี่ยวมาจะทำการกำจัดรากฝอยออกไปให้เกลี้ยงเกลา แล้วคัดเลือกผลผลิตตามเกณฑ์ความสวยงาม 4 ขั้น (รูปร่างกับหน้าตาภายนอก), เกณฑ์คัดเลือก 7 ขั้น (น้ำหนัก) ที่กำหนดไว้เป็น "มาตรฐาน JA เมืองคุชิมะ โอสึกะ สำหรับมันเทศส่งขายตลาดผักผลไม้"

เมืองคุชิมะแหล่งผลิต "ยามะไดคันโช" ตั้งอยู่สุดปลายด้านใต้ของจังหวัดมิยาซากิ ด้านตะวันออกติดกับทะเลฮิวกะ (1) ส่วนด้านใต้ติดกับอ่าวชิบุชิ (2) และเป็นพื้นที่อากาศอบอุ่นได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำคุโรชิโอะ(3)ที่ไหลอยู่ไกลชายฝั่งออกไป นอกจากนี้ผืนดินส่วนใหญ่ของแหล่งเพาะปลูกเป็นดินภูเขาไฟ ระบายน้ำได้ดี จึงเป็นพื้นที่เหมาะแก่การปลูกมันเทศ
 ในพื้นที่เริ่มปลูกมันเทศสำหรับส่งขายตลาดผักผลไม้มาตั้งแต่ยุคปี 1960 วางรากฐานระบบส่งผลผลิตออกขายตลอดทั้งปี โดยใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศอบอุ่นทำการเพาะปลูกแบบส่งขายแต่เนิ่นๆ กับวิธีเก็บรักษาผลผลิตในช่วงฤดูหนาวที่มีรูปแบบเฉพาะตัว และยังวางรากฐานตำแหน่งของแหล่งผลิตมันเทศส่งขายตลาดผักผลไม้ชั้นนำของญี่ปุ่นตะวันตกด้วยการตอบสนองความต้องการด้านรูปร่างกับขนาดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละตลาด เช่น การคัดเลือกส่งขายอย่างเข้มงวด เป็นต้น
 ปัจจุบันในปี 2016 ได้เป็นแหล่งผลิตที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้ผลิต 181 ครอบครัว พื้นที่เพาะปลูก 500 เฮกตาร์ ปริมาณการส่งขายปีละ 10,000 ตัน ครองสัดส่วนประมาณ 80% ของปริมาณการผลิตภายในจังหวัด นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นกับการส่งออกขายต่างประเทศอย่างจริงจัง โดยส่งออกไปขายยังฮ่องกงเป็นเจ้าแรกในประเทศตั้งแต่ปี 2003

  1. ทะเลฮิวกะ : น่านน้ำตั้งแต่แหลมโทอิที่ตั้งอยู่ด้านใต้สุดของ จ.มิยาซากิไปจนถึงสึรุมิซากิในเมืองไซกิ จ.โออิตะ เป็นหนึ่งในทะเลคลื่นแรงของประเทศเหมือนกับทะเลเก็นไค (ตอนเหนือของคิวชู) , ทะเลเอ็นชู (ชายฝั่งตั้งแต่ จ.ชิซึโอกะถึง จ.ไอจิ)
  2. อ่าวชิบุชิ : ชื่อเรียกอ่าวที่ตั้งอยู่ระหว่าง "ฮิซากิ" ทางตะวันออกของคาบสมุทรโอสึมิ จ.คาโกชิมะ กับแหลมโทอิตอนใต้สุดของ จ.มิยาซากิ
  3. คุโรชิโอะ : เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากระแสน้ำญี่ปุ่น ไหลจากทะเลจีนตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านช่องแคบโทคาระเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ไหลเลียบไปตามแนวชายฝั่งด้านใต้ของหมู่เกาะญี่ปุ่นแล้วไหลสู่ตะวันออกที่คาบสมุทรโบโซ เป็นกระแสน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของโลกเทียบเท่ากับกระแสน้ำเย็นรอบขั้วโลกใต้และกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม

Back to
top

เผยแพร่ความมีเสน่ห์อันน่าสนใจของผลิตภัณฑ์พิเศษแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น