ต้นหอมนุ่มมิโตะ
หมายเลขจดทะเบียน | 59 |
---|---|
ชื่อของ GI | ต้นหอมนุ่มมิโตะ |
การแบ่งประเภท | ผัก ธัญพืช พัลส์ |
วันที่ลงทะเบียน | 2018/02/07 |
พื้นที่ทำการผลิต |
จังหวัดอิบารากิ
เมืองมิโตะ จังหวัดอิบารากิ, เมืองอิบารากิ และเมืองชิโรซากิ ในกลุ่มพื้นที่ฮิงาชิอิบาริ |
ติดต่อที่อยู่ | สหกรณ์การเกษตรมิโตะ 2 -27 อากัตสึกะ เมืองมิโตะ จังหวัดอิบารากิ |
ลักษณะเด่นของ "มิโตะ โนะ ยาวารากะ เนงิ" หรือ "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" ก็คือความนุ่มนั่นเอง
ส่วนลำสีขาว ๆ ของต้นหอมชนิดนี้มีความยาวมากกว่า "เนบูกะเนงิ" (ต้นหอมรากลึก) ทั่วไป 1.3 เท่าถึง 1.6 เท่า และมีแรงยึดเกาะดินไม่มากนัก นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับต้นหอมทั่วไปแล้ว "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" จัดว่ามีลักษณะพิเศษตรงที่มีรสหวานชื่น (มีระดับน้ำตาลกลูโคสสูง) และมีกลิ่นไม่ฉุนนัก (ระดับกรดไพรูวิกต่ำ)
ลักษณะเด่นเหล่านี้ทำให้ "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" ขึ้นชื่อว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่ผู้บริโภค
การเพาะปลูก "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" นั้นทำกันในโรงเรือนเพาะปลูกมุงด้วยพลาสติกในพื้นที่แหล่งผลิต เพื่อยืดให้ส่วนลำสีขาวของ "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" ยาวมากขึ้น เกษตรกรจะไม่งอส่วนลำสีขาวของต้นหอมชนิดนี้อย่างที่ทำกับต้นหอมทั่วไป อีกทั้งจะไม่เอาดินกลบทับ แต่จะใช้ฟิล์มกันแสงพันไว้รอบ ๆ แทน เมื่อได้เวลาเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะค่อย ๆ ถอนต้นหอมขึ้นจากพื้นดินอย่างเบามือเพื่อไม่ให้ต้นหอมหัก ลอกผิวชั้นนอกออก แล้วคัดเอาแต่ต้นหอมที่ส่วนลำสีขาวมีความยาวเกิน 40 เซนติเมตรมาบรรจุอย่างรวดเร็วลงใส่ซองที่ได้รับการออกแบบให้คงความสดใหม่ของสินค้า แล้วนำส่งสู่ตลาด
เมืองมิโตะในจังหวัดอิบารากิอันเป็นแหล่งผลิตต้นหอมชนิดนี้มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มต่ำตะกอนน้ำพาของลุ่มแม่น้ำนากางาวะและที่ราบสูงบนชั้นดินร่วนคันโต (1) พื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้มีชั้นดินที่ลึกเพียงพอเหมาะกับรากยาวของ "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" นอกจากนี้ พื้นที่เหล่านี้ยังมีแดดส่องนานเพียงพอ อีกทั้งมักไม่ค่อยได้รับความเสียหายจากไต้ฝุ่น จึงเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกต้นหอมในโรงเรือนเพาะปลูกอย่างจริงจัง
ในสมัยเอโดะ เจ้าครองแคว้นและข้ารับใช้แห่งพื้นที่อันเคยเป็นแคว้นมิโตะนั้น (2) เขียนหนังสือไว้หลายเล่มเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งรวมถึง "โชกุไซโรกุ" (บันทึกพืชผักทำครัว) (3) ในงานเขียนเหล่านี้ กุยช่าย รักเกียว กระเทียม และขิง ล้วนทำให้ผู้คนสนอกสนใจกันเนื่องจากเป็นพืชผักที่ผู้คนในพื้นที่โดยรอบมิโตะรับประทานกันมาแต่โบราณ
ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา เกษตรกรในพื้นที่ได้ร่วมมือกันแสวงหาวิธีการที่ดีกว่าเดิมในการเพาะปลูกเนบูกะเนงิ (ต้นหอมรากลึก) อีกทั้งยังสร้างสรรค์ให้เกิดเทคโนโลยีการผลิต "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" ด้วย
นับตั้งแต่ก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรมิโตะขึ้นเมื่อปี 1999 เกษตรกรผู้ปลูก "ต้นหอมนุ่มมิโตะ" กลุ่มหนึ่งก็ได้ส่งเสริมการเพาะปลูกต้นหอมชนิดนี้มาโดยตลอด
- ชั้นดินร่วนคันโต: ชั้นดินสีน้ำตาลเข้มที่ถูกกัดเซาะกัดกร่อนจากเถ้าภูเขาไฟซึ่งปกคลุมที่ราบคันโตในยุคควอเทอร์นารี
- แคว้นมิโตะ: อาณาเขตที่ปัจจุบันคือพื้นที่ตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัดอิบารากิ แคว้นนี้อยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลมิโตะ โทกูงาวะในสมัยเอโดะ (1603-1867)
- โชกุไซโรกุ: "บันทึกพืชผักทำครัว" คือ หนังสือที่เขียนขึ้นโดยโทกูงาวะ นาริอากิ (1800-1860) ผู้นำ
ตระกูลมิโตะ โทกุงาวะคนที่ 9 ในปลายสมัยเอโดะ หนังสือเล่มนี้บันทึกสูตรอาหารที่ปรุงกันในตระกูลดังกล่าว