เนื้อวัวคาโงชิมะวากิว
หมายเลขจดทะเบียน | 58 |
---|---|
ชื่อของ GI | เนื้อวัวคาโงชิมะวากิว เนื้อวัวดำคาโงชิมะ คาโงชิมะคูโรอูชิ |
การแบ่งประเภท | เนื้อ |
วันที่ลงทะเบียน | 2017/12/15 |
พื้นที่ทำการผลิต | จังหวัดคาโกชิมะ |
ติดต่อที่อยู่ | สมาคมส่งเสริมเนื้อวัวจังหวัดคาโงชิมะ 10-1 คาโมอิเกะ เมืองคาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ |
"คาโงชิมะคูโรอูชิ" หรือ "วัวดำคาโงชิมะ" เป็นตัวแทนของเนื้อวัวจากวัวพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ (คูโรเงะวาชู) ซึ่งระยะเวลาเลี้ยงนานที่สุดของวัวต้องอยู่ในจังหวัดคาโงชิมะ และสถานที่เลี้ยงสุดท้ายของวัวตัวนั้นก็ต้องเป็นจังหวัดคาโงชิมะเช่นกัน
นอกจากจะมีเนื้อละเอียดเนียนนุ่มแล้ว ลักษณะเด่นของเนื้อวัว "คาโงชิมะคูโรอูชิ" คือ เนื้อและไขมันรสกลมกล่อม ไม่หนักแต่แน่นเต็มคำ ตลอดจนรสสัมผัสทางอาหารที่ละลายในปากของเนื้อลายหินอ่อน (ชิโมฟูริ) หรือเนื้อที่มีไขมันแทรกเป็นลายตาข่าย ไขมันที่แทรกในเนื้อนี้มีอุณหภูมิหลอมละลายต่ำเนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ได้สมดุลอยู่ปริมาณมาก
ในนิทรรศการประกวดคุณสมบัติวัววากิวระดับชาติครั้งที่ 11 (1) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 "คาโงชิมะคูโรอูชิ" ได้รับรางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงจากการประกวดแข่งขัน 4 ใน 9 รายการที่เข้าร่วม (ประเภทวัวพ่อพันธุ์ 3 รายการและประเภทวัวเนื้อ 1 รายการ) ในการประกวดวัวเนื้อนั้น เนื้อวัวคาโงชิมะคูโรอูชิได้รับรางวัลการตัดแต่งซากดีเด่น
วัวพันธุ์ที่จะได้รับการจัดว่าเป็น "คาโงชิมะคูโรอูชิ" คือวัวพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ (วัวสาวและวัวหนุ่ม) เงื่อนไขอีกประการของการที่จะได้รับการจัดว่าเป็น "คาโงชิมะคูโรอูชิ" ก็คือ ระยะเวลาเลี้ยงนานที่สุดของวัวต้องอยู่ในจังหวัดคาโงชิมะ และสถานที่เลี้ยงสุดท้ายของวัวตัวนั้นก็ต้องเป็นจังหวัดคาโงชิมะเช่นกัน
ในจังหวัดคาโงชิมะ เดิมทีวัวเป็นสัตว์ที่เลี้ยงเอาไว้ใช้งาน ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งผู้คนนำเครื่องจักรการเกษตรอย่างรถแทรกเตอร์และเครื่องพรวนดินมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การเลี้ยงวัวไว้ใช้แรงงานก็แปรเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงวัวไว้เพื่อเอาเนื้อแทน
ในจังหวัดคาโงชิมะนั้น ผู้ที่บริหารจัดการวัวพ่อพันธุ์คือกลุ่มคนที่ทำงานในหน่วยงานของทางการจังหวัดและธุรกิจเอกชน มีการดำเนินงานหลายขั้นตอนเพื่อพัฒนาพ่อพันธุ์ชั้นเลิศที่เหมาะกับการผลิตเนื้อวัวคุณภาพสูงและเพิ่มจำนวนวัวพ่อพันธุ์ชั้นเยี่ยม
เมื่อปี 1985 สมาคมวัวพ่อพันธุ์ประจำจังหวัดได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาหามาตรการที่จะนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพวัวเนื้อของจังหวัด และเพื่อทำให้ "คาโงชิมะคูโรอูชิ" กลายเป็นยี่ห้อสินค้า
ต่อมาเมื่อปี 1995 สมาคมส่งเสริมวัวเนื้อจังหวัดคาโงชิมะได้รับการก่อตั้งขึ้น สมาคมนี้ประกอบด้วยหน่วยงานและกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวเนื้อ
เมื่อปี 1997 สมาคมส่งเสริมวัวเนื้อจังหวัดคาโงชิมะจัดทำคู่มือสำหรับเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์วัวเนื้อในจังหวัด อีกทั้งส่งเสริมเทคนิคการผลิตลูกวัวให้ได้แบบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวขุนต้องการ เมื่อปี 1998 ทางสมาคมจัดทำข้อมูลสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวขุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการอาหารวัวพื้นฐาน การเติบโตทางกายภาพ การควบคุมวิตามิน โรค และส่วนประกอบอาหาร เมื่อแนวคิดใหม่เผยแพร่ออกไปทั่วและกลายเป็นสิ่งที่เกษตรกรปฏิบัติกันก็พบว่าคุณภาพของ "คาโงชิมะคูโรอูชิ" เพิ่มสูงขึ้น
จังหวัดคาโงชิมะได้อันดับ 1 ด้านจำนวนวัวเลี้ยงพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ ไม่เพียงแต่ในด้านจำนวนวัวพ่อพันธุ์เท่านั้น แต่ในด้านจำนวนวัวขุนด้วย ตั้งแต่ปี 1995 เมื่อสมาคมส่งเสริมวัวเนื้อจังหวัดคาโงชิมะได้รับการจัดตั้งขึ้นจวบจนปัจจุบัน (ปี 2017 เมื่อเริ่มใช้ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)
ในอดีตจนถึงเมื่อไม่นานนี้ "เนื้อวัวคาโงชิมะ" และอีกหลายคำเป็นคำที่ใช้เรียกเนื้อวัวที่ผลิตในจังหวัดคาโงชิมะ แต่ปัจจุบัน เนื้อวัวเหล่านี้ได้รับการรวมเป็นหนึ่งเดียวในชื่อ "คาโงชิมะคูโรอูชิ" หรือ "วัวพันธุ์ขนดำคาโงชิมะ"
- นิทรรศการประกวดคุณสมบัติวัววากิวระดับชาติ: นิทรรศการประกวดวัวญี่ปุ่น (วัวญี่ปุ่นพันธุ์ขนดำ) จัดทุก 5 ปี