แตงโมยักษ์นิวเซ็น
หมายเลขจดทะเบียน | 53 |
---|---|
ชื่อของ GI | แตงโมยักษ์นิวเซ็น |
การแบ่งประเภท | ผัก ธัญพืช พัลส์ |
วันที่ลงทะเบียน | 2017/12/15 |
พื้นที่ทำการผลิต |
จังหวัดโทยามะ
เมืองนิวเซ็น เขตชิโมนีกาวะ |
ติดต่อที่อยู่ | สหกรณ์การเกษตรมินาโฮะ 2489-1 เมืองนิวเซ็น เขตชิโมนีกาวะ จังหวัดโทยามะ เว็บไซต์ http://www.ja-minaho.or.jp/ |
พื้นที่ผลิต
"แตงโมยักษ์นิวเซ็น" เป็นแตงโมขนาดใหญ่ เพาะปลูกที่เมืองนิวเซ็น ในจังหวัดโทยามะ มีคุณลักษณะเป็นรูปกลมรีโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ คล้ายลูกรักบี้ และมีผิวลายขวางอย่างเด่นชัด
ขณะที่แตงโมญี่ปุ่นทั่วไปมีรูปร่างค่อนข้างเหมือนเม็ดยาและมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 7-9 กิโลกรัม แต่แตงโมชนิดนี้มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 17-19 กิโลกรัม แม้ว่ามีขนาดใหญ่ แต่ก็มีรสหวาน เวลารับประทาน รสหวานจะกระจายทั่วปาก
เนื่องด้วยรูปทรง ขนาด และรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะ "แตงโมยักษ์นิวเซ็น" จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ค้าในตลาดและผู้บริโภคในฐานะสินค้าพิเศษของท้องถิ่นระดับเยี่ยมจากเมืองนิวเซ็นแห่งชายฝั่งทะเลอ่าวโทยามะ "แตงโมยักษ์นิวเซ็น" ได้รับการพิจารณาให้เป็นสินค้าที่ทำให้ผู้คนนึกถึงฤดูร้อน และใช้อย่างกว้างขวางในเทศกาลและงานท้องถิ่น ตลอดจนกลายเป็นของขวัญทรงคุณค่าในช่วงในฤดูร้อน (1)
พันธุ์ของแตงโมที่ใช้ในการเพาะปลูก คือ "นิวเซ็นยักษ์" บางครั้งมีการนำพันธุ์อื่นที่มีคุณลักษณะคล้ายกันมาปลูก
เพื่อให้แตงโมมีขนาดใหญ่ จะปลูกห่างจากกันมากกว่า 60 เซนติเมตร ตัดลูกอื่นออกให้เหลือไม่เกิน 2 ลูกต่อต้นเพื่อให้แตงโมที่จะเก็บเกี่ยวมีธาตุอาหารเข้มข้น และนำที่กำบังแดดทำจากฟางข้าวมาใช้เพื่อป้องกันการถูกแสงแดดเผาทำลาย
ท้ายสุดเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเพาะปลูกซ้ำซ้อน พื้นที่ที่ถูกใช้เพาะปลูกไปแล้ว 1 ครั้งจะไม่นำมาเพาะปลูกอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี
แตงโมที่ผลิตด้วยวิธีนี้จะได้รับการส่งเข้าสู่ตลาดเมื่อมีน้ำหนักช่วงเก็บเกี่ยวสุดท้ายอย่างน้อย 9 กิโลกรัม
เมืองนิวเซ็นตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดโทยามะ ล้อมรอบด้วยเทือกเขาฮิดะ (2) ตัวเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่เนินตะกอนรูปพัดที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำคูโรเบะ (3) ดินเพาะปลูกในพื้นที่มีลักษณะเป็นทรายและตื้น เก็บกักน้ำได้ต่ำ ทำให้สามารถเพาะปลูกแตงโมได้อย่างช้า ๆ โดยปล่อยให้เติบโตมีขนาดใหญ่และหนักได้เพราะความชื้นสูงไม่เป็นปัญหา อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นิยมปลูกแตงโมในพื้นที่ คือ พื้นที่ทุ่งนาแบบเปียกครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง สามารถปรับเปลี่ยนเป็นทุ่งแตงโมได้ง่าย
การเพาะปลูกแตงโมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ตั้งแต่ประมาณปี 1897 เทคนิคความรู้การเพาะปลูกที่สั่งสมมากว่า 100 ปีทำให้วิธีการเพาะปลูกและวิธีการจัดการพื้นดินเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อทำให้แตงโมเติบโตมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เสริมด้วยมาตรการจัดการความเสียหายจากโรคและแมลง และการจัดการเพาะปลูกเพื่อให้พื้นดินคงสภาพดี เมื่อรวมเอาเทคนิคต่าง ๆ ที่พัฒนาโดยท้องถิ่นเข้าด้วยกันแล้ว ความรู้นี้ทำให้เกิดการผลิต "แตงโมยักษ์นิวเซ็น"
ในพื้นที่นิวเซ็น การเพาะปลูกแตงโมขนาดใหญ่เริ่มต้นขึ้นในสมัยเมจิ เมื่อถึงสมัยไทโช พื้นที่เพาะปลูกแตงโมขยายไปถึง 96 เฮกเตอร์ (4) และมีการส่งแตงโมท้องถิ่นไปต่างประเทศ แต่อีกหลายปีต่อมา สงครามและรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคนำไปสู่การลดพื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น เพื่อแบ่งปันเทคนิคการเพาะปลูกและพัฒนาคุณภาพ สมาคมผู้ผลิตแตงโมคูโรเบะเมืองนิวเซ็นจึงเริ่มดำเนินการในปี 1971 หลังจากนั้น ในปี 1982 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมผู้ผลิตแตงโมยักษ์เมืองนิวเซ็น" เพื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการควบคุมคุณภาพและประชาสัมพันธ์แตงโมยักษ์ในฐานะสินค้าพิเศษท้องถิ่นของเมือง
ประมาณปี 1983 เริ่มมีการส่งแตงโมที่ผลิตในพื้นที่ไปยังตลาดภายใต้แบรนด์ "แตงโมยักษ์นิวเซ็น" ในปี 2016 ใช้พื้นที่ประมาณ 4.1 เฮกเตอร์เพาะปลูกแตงโมยักษ์ประมาณกว่า 7,846 ลูก
- ในญี่ปุ่น ผู้คนมักมอบของขวัญกันปีละ 2 ครั้งเพื่อแสดง "ความรู้สึกขอบคุณ" แก่ผู้คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ของขวัญในฤดูร้อนเรียกว่า "โอชูเก็น" ส่วนของขวัญปลายปีเรียกว่า "โอเซโบะ" ในอดีต การบรรจุแตงโมงยักษ์นิวเซ็นนั้นทำโดยนำแตงโมใส่หีบห่อที่ทำด้วยฟาง เรียกว่า "โคเมะดาวาระ" เพื่อให้ถือง่าย และแม้แต่ในปัจจุบัน บางครั้งก็ยังพบเห็นแตงโมบรรจุหีบห่อลักษณะพิเศษที่ทำจากฟางเพื่อนำไปเป็นของขวัญอยู่เช่นกัน
- เทือกเขาฮิดะ: แนวภูเขาที่ทอดตัวต่อเนื่องพาดผ่านจังหวัดนีงาตะ นางาโนะ โทยามะ และกิฟุ พื้นที่ส่วนสำคัญของแนวเขาได้รับการกำหนดให้เป็น "อุทยานแห่งชาติชูบุซังงากุ"
- แม่น้ำคูโรเบะ: แม่น้ำที่ไหลผ่านทางตะวันออกของจังหวัดโทยามะ แม่น้ำสั้น ๆ สายนี้มีความยาว 85 กิโลเมตร ไหลจากต้นกำเนิดที่อยู่ลึกเข้าไปในเทือกเขาฮิดะลงสู่ทะเลญี่ปุ่น เขื่อนคูโรเบะซึ่งเป็นเขื่อนที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำ
- สมัยเมจิ (1868-1912) และสมัยไทโช (1912-1926): ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ในสมัยเมจิเกิดการโค่นล้มรัฐบาลโชกุนตระกูลโทกูงาวะ และเป็นสมัยแห่งการปรับประเทศให้ทันสมัย ในสมัยไทโช ญี่ปุ่นพัฒนาเข้าสู่ความเป็นอุตสาหกรรมและพัฒนามากขึ้น