กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ
กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ
หมายเลขจดทะเบียน | 51 |
---|---|
ชื่อของ GI | กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ |
การแบ่งประเภท | ผัก ธัญพืช พัลส์ |
วันที่ลงทะเบียน | 2017/12/15 |
พื้นที่ทำการผลิต |
จังหวัดอะคิตะ
เมืองอูโงะ กลุ่มพื้นที่โองาจิ |
ติดต่อที่อยู่ | สหกรณ์พืชสวนใหม่อูโงะ JA 45-1 อิซูมิดะ ทาราดะ เมืองอูโงะ กลุ่มพื้นที่โองาจิ จังหวัดอากิตะ |
พื้นที่ผลิต
"ฮิบาริโนะโอกูระ" หรือ "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" คือ กระเจี๊ยบพันธุ์หนึ่ง ฝักยาวอวบ และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวเหมือนพันธุ์อื่น "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" ปลูกในเรือนเพาะปลูก (เรือนกระจกที่คลุมด้วยพลาสติก) จึงเติบโตรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งต่างจากกระเจี๊ยบที่ปลูกในทุ่งเปิด ลักษณะเด่นของกระเจี๊ยบพันธุ์นี้คือ แม้มีขนาดใหญ่ แต่ก็อวบและนุ่ม
"กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" ได้รับความนิยมสูงเพราะฝักไม่แข็งไม่เหนียว จึงนำไปใช้กับอาหารที่ปรุงด้วยหลากหลายวิธีได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเทียบกับกระเจี๊ยบพันธุ์อื่น จึงมีราคาสูงกว่าประมาณ 30%-50%
ในจังหวัดอากิตะซึ่งเป็นแหล่งผลิต ด้วยคุณภาพชั้นเลิศ "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" จึงเป็นที่นิยมมายาวนานในหมู่ผู้บริโภค และส่งเข้าสู่ตลาดทุกปีประมาณเดือนพฤษภาคม
การเพาะต้นอ่อนของ "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" ทำในกระถาง ในระหว่างนี้จะใช้อุปกรณ์ความร้อนช่วยรักษาอุณหภูมิสำหรับการงอก และควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้แห้งเกินไป จากนั้นย้ายต้นอ่อนไปปลูกในเรือนเพาะปลูก
เนื่องจากกระเจี๊ยบทนต่อความร้อนได้ดี แต่ไม่ทนต่อความหนาว เกษตรกรในท้องถิ่นจะดำเนินมาตรการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสม เช่น ปิดประตูเรือนเพาะปลูกโดยเร็วในช่วงเย็น และหลังจากต้นลงรากได้อยู่ตัวแล้วก็ดูแลเอาใจใส่การเพาะปลูกอย่างละเอียดรอบคอบ
เกณฑ์การส่ง "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" เข้าสู่ตลาดคือ ฝักกระเจี๊ยบมีความยาว 10-12 เซนติเมตร และความยาวภาคตัดขวาง 8 มิลลิเมตร ถึง 1 เซนติเมตร
ชื่อ "กระเจี๊ยบฮิบาริโนะ" มาจากชื่อ "ฮิบาริโนะ" ซึ่งเป็นพื้นที่ในเมืองอูโงะ จังหวัดอากิตะ
เมืองอูโงะอยู่ในแอ่ง โดยมีเทือกเขาโออุ (1) และเนินเขาเดวะโอบล้อม (2) จึงมีระยะเวลาที่แดดส่องยาวนานกว่าพื้นที่อื่นในจังหวัด และเอื้อต่อการเพาะปลูกในเรือนเพาะปลูก ปัจจัยนี้ทำให้เกษตรกรรักษาอุณหภูมิที่พอเหมาะสำหรับการเพาะปลูกกระเจี๊ยบได้
ตั้งแต่เริ่มมีการเพาะปลูกกระเจี๊ยบในปี 1976 เกษตรกรได้เวียนดูพื้นที่ปลูกของกันและกันเพื่อปรับและพัฒนาเทคนิคการปลูกให้ดีขึ้น นำไปสู่รสชาติที่ดีขึ้นและปริมาณผลผลิตที่ต่อเนื่องมั่นคง
เกษตรกรเพาะปลูกกระเจี๊ยบต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 40 ปีแล้ว ในระหว่างนี้ก็ใส่ใจคุณลักษณะพิเศษอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้ได้กระเจี๊ยบ "ใหญ่และนุ่ม" และด้วยผลจากความพยายามส่งเสริมการบริโภคในท้องถิ่น ในปี 2016 จึงได้ผลผลิตกระเจี๊ยบสูงถึง 37 ตัน
- เทือกเขาโออุ: เทือกเขานี้ทอดตัวยาวประมาณ 500 กิโลเมตร พาดผ่านตอนกลางของภูมิภาคโทโฮกุทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น เป็นแนวเทือกเขาที่ยาวที่สุดในประเทศ ผ่านจังหวัดอาโอโมริทางเหนือ ต่อเนื่องลงมาทางใต้ โดยผ่านจังหวัดอิวาเตะ อากิตะ มิยางิ ยามางาตะ ฟูกูชิมะ จนถึงโทจิงิ
- เนินเขาเดวะ: เนินเขาเดวะเป็นชื่อรวมของพื้นที่เทือกเขาและเนินเขาที่ทอดตัวตามแนวเหนือใต้ตัดผ่านภูมิภาคโทโฮกุ และอยู่ติดกับทะเลญี่ปุ่น มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ "พื้นที่เทือกเขาเดวะ"