ส้มซากุระจิมะโคมิกัง

หมายเลขจดทะเบียน 46
ชื่อของ GI ส้มซากุระจิมะโคมิกัง
การแบ่งประเภท ผลไม้
วันที่ลงทะเบียน 2017/11/10
พื้นที่ทำการผลิต จังหวัดคาโกชิมะ
ติดต่อที่อยู่

สหกรณ์การเกษตรคาโงชิมะมิราอิ

27-17 โองาวะโจ เมืองนาโงชิมะ จังหวัดคาโงชิมะ

https://ja-kagoshimamirai.or.jp/

พื้นที่ผลิต

"ส้มซากุระจิมะโคมิกัง" คือส้มที่มีขนาดเล็กมาก ปลูกบน "เกาะซากุระจิมะ" (1) ในจังหวัดคาโงชิมะ แม้ผลไม้ชนิดนี้จะมีขนาดเล็ก แต่มีเนื้อนุ่มนวลและชุ่มฉ่ำ รสอร่อยของผลไม้เกิดจากความลงตัวพอดีของรสหวานและรสเปรี้ยว เปลือกส้มส่งกลิ่นที่ทำให้รู้สึกสดชื่นตามแบบฉบับผลไม้ตระกูลส้มและยังใช้เป็นเครื่องปรุงรสได้ด้วย
 ส้มซากุระจิมะโคมิกังจะเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนกระทั่งถึงปลายเดือนธันวาคม เนื่องจากปริมาณที่ขายในท้องตลาดมีจำกัด ส้มชนิดนี้จึงมีมูลค่าในด้านความหายากและได้รับการยอมรับอย่างมากจากผู้ค้าในท้องถิ่น

"ส้มซากุระจิมะโคมิกัง" ปลูกใน "เรือนกระจกหลังคา" (2) เพื่อควบคุมระดับความชื้นให้เหมาะสมและป้องกันเถ้าจากภูเขาไฟซากุระจิมะ ซึ่งยังเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่
 ผู้ผลิตส้มจะปฏิบัติตาม "ข้อกำหนดด้านการส่งส้มซากุระจิมะโคมิกัง" ที่เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าจะจัดส่งผลไม้ที่มีรูปทรงสวยงาม โดยมีตำหนิ หรือความเสียหายอันเนื่องจากโรคหรือแมลงน้อยที่สุด แม้ส้มที่ได้ตามมาตรฐานข้อกำหนดที่เข้มงวดนี้ก็อาจไม่ได้รับการนำส่งไปยังตลาดผลไม้หากมีสีไม่สวยหรือมีลักษณะภายนอกใด ๆ ที่ไม่เหมาะสม ผลไม้ลักษณะนี้จะถูกส่งไปยังโรงงานแปรรูป

"ส้มโคมิกัง" เพาะปลูกมาช้านานที่ซากุระจิมะ ซึ่งรายล้อมด้วยมหาสมุทรและมีแสงแดดเพียงพอตลอดทั้งปี จากข้อมูลเก่า ๆ แสดงให้เห็นว่าผู้คนเพาะปลูกส้มชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยเอโดะ (3) มีต้นส้มที่มีอายุนับศตวรรษขึ้นกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก
 ตลาดผู้บริโภคหลักของ "ส้มซากุระจิมะโคมิกัง" คือจังหวัดคาโงชิมะ ส้มนับเป็นของที่มีคุณค่าในแง่ของที่ผลิตได้ในท้องถิ่นที่ใช้เป็นของขวัญสิ้นปี (4) ทั้งยังใช้เป็นองค์ประกอบที่ไม่ใช่ของกิน โดยใช้เพื่อการตกแต่งในเทศกาล เช่น "ชิเมนาวะ" หรือเชือกล้อม (5) และ "คางามิโมจิ" หรือเค้กข้าวซ้อนเป็นชั้น (6) กล่าวโดยสรุปคือ "ส้มซากุระจิมะโคมิกัง" คือผลไม้ที่หยั่งรากลึกในแง่ของการทำอาหารในท้องถิ่นและวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์
 แม้ว่ามีการปลูกส้มโคมิกังในพื้นที่ซากุระจิมะมาเนิ่นนานแล้ว แต่วิธีการปลูกในปัจจุบันก็เพิ่งคิดค้นขึ้นในปี 1979 เมื่อเริ่มมีการใช้เรือนกระจกหลังคา
ในปี 1983 "สหกรณ์การเกษตรเมืองซากุระจิมะ" ได้จัดระบบรถบรรทุกสินค้าและการจำหน่ายแบบใหม่ นำไปสู่การพัฒนามาตรการอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการผลิตและการจำหน่าย "ส้มซากุระจิมะโคมิกัง" และมาตรการเหล่านี้ยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

  1. เกาะซากุระจิมะ: คือคาบสมุทรในอ่าวคาโงชิมะ ซึ่งเป็นอ่าวที่เรียกกันในท้องถิ่นว่าอ่าวคิงโก คาบสมุทรนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะ แต่ลาวาที่ไหลจากการระเบิดของภูเขาไฟในปี 1914 ทำให้เกิดเป็นคาบสมุทรโอซูมิเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่คิวชูขึ้นมา ภูเขาไฟนี้ยังคงมีพลังอยู่และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งจังหวัดคาโงชิมะ
  2. เรือนกระจกหลังคา: โดยทั่วไปเรือนกระจกจะมีพลาสติกคลุมทั้งหมด แต่เรือนเพาะปลูกในคาโงชิมะอันอบอุ่นจะสร้างโดยใช้พลาสติกคลุมแค่หลังคาเท่านั้น เพื่อป้องกันเถ้าภูเขาไฟที่ร่วงหล่น
  3. สมัยเอโดะ: ยุคสมัยตามประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1603-1867 เมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือกรุงโตเกียว) คือศูนย์รวมอำนาจของรัฐบาลโชกุน (รัฐบาลทหาร) นับตั้งแต่โชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ ซึ่งเป็นโชกุนรุ่นแรกจากตระกูลโทกูงาวะเรืองอำนาจ การบริหารงานของรัฐบาลมีศูนย์กลางที่บ้านพักของโชกุนโทกูงาวะ
  4. ของขวัญปลายปี: ในญี่ปุ่น ผู้คนมักมอบของขวัญกันปีละ 2 ครั้งเพื่อแสดง "ความรู้สึกขอบคุณ" แก่ผู้คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ของขวัญในฤดูร้อนเรียกว่า "โอชูเก็น" ส่วนของขวัญปลายปีเรียกว่า "โอเซโบะ"
  5. ชิเมนาวะ (เชือกล้อม): การตกแต่งตามเทศกาล โดยทำจากฟางที่ถักเป็นเปียและตกแต่งด้วยพู่ห้อย ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์สองข้อคือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการต้อนรับเทพเจ้าในช่วงปีใหม่ และเพื่อป้องกันวิญญาณอัปมงคลไม่ให้เข้ามาภายในบ้านของผู้คน การตกแต่งลักษณะนี้จะทำที่หน้าบ้านในช่วงปีใหม่
  6. เค้กข้าวซ้อนเป็นชั้น (คางามิโมจิ): การตกแต่งตามเทศกาลในช่วงปีใหม่เช่นเดียวกับชิเมนาวะ ประกอบด้วย "โมจิ" หรือเค้กข้าวจำนวนสองชิ้น โดยชิ้นที่เล็กกว่าจะวางบนชิ้นที่ใหญ่กว่า และวางส้ม "มิกัง" ไว้ข้างบนอีกทีเป็นการตกแต่ง

Back to
top

เผยแพร่ความมีเสน่ห์อันน่าสนใจของผลิตภัณฑ์พิเศษแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น