โคไดซาซาซูเกะแห่งวากาซะโอบามะ

หมายเลขจดทะเบียน 45
ชื่อของ GI โคไดซาซาซูเกะแห่งวากาซะโอบามะ
การแบ่งประเภท อาหารแปรรูป
วันที่ลงทะเบียน 2017/11/10
พื้นที่ทำการผลิต จังหวัดฟุคุอิ
เมืองโอบามะ
ติดต่อที่อยู่

สมาคมสหกรณ์โอบามะซาซาซูเกะ

1-3-6 คาวาซากิ เมืองโอบามะ จังหวัดฟูกูอิ

พื้นที่ผลิต

"โคไดซาซาซูเกะแห่งวากาซะโอบามะ" คือผลผลิตจากภูมิภาควากาซะโอบามะ เป็นปลาซีบรีมตัวเล็กปรุงด้วยเกลือและน้ำส้ม ตกแต่งด้วยใบของไผ่ใบกว้าง โดยเลาะเนื้อปลาชนิดนี้จากทะเลของญี่ปุ่นให้เป็นสามชิ้นไม่ติดก้าง โรยเกลือเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู หรือเครื่องปรุงจำพวกน้ำส้มสายชูและเก็บไว้ในถัง ผิวของเนื้อปลาจะเปลี่ยนเป็นสีอมชมพูสวย ในขณะที่ส่วนของเนื้อจะมีความแวววาวออกสีเหลืองอ่อนหรือขาวใส เนื้อแน่น มีรสเค็มและเปรี้ยวหน่อย ๆ
 การใช้เกลือและน้ำส้มสายชู ทำให้ "โคไดซาซาซูเกะแห่งวากาซะโอบามะ" เก็บไว้ได้นานพอสมควร โดยยังคงรสชาติได้ใกล้เคียงกับปลาซีบรีมสด
 ปลาซีบรีมตัวเล็กปรุงรสนี้นำมารับประทานกับโชยุ (ซีอิ๊วญี่ปุ่นทำจากถั่วเหลือง) และวาซาบิ อาจใช้ทำชิราชิซูชิ (1) และเทมาริซูชิ (2) นอกจากนี้ จะนำปลาไปเติมในซุปใสแบบญี่ปุ่น (ซูอิโมโนะ) หรือทำเป็นเมนูจำพวกสลัดญี่ปุ่นรสเปรี้ยว (ซูโนะโมโนะ) ก็ได้เช่นกัน

องค์ประกอบหลักคือปลาซีบรีม ("เร็งโกได" หรือปลาซีบรีมหลังเหลือง) จับได้จากท้องทะเลของญี่ปุ่น
 ขั้นแรกในการผลิตคือ ขอดเกล็ดปลา เอาหัวปลาและเครื่องในออก
 ขั้นต่อไป หลังจากล้างปลาด้วยน้ำสะอาดแล้ว แล่เนื้อออกเป็น 3 ส่วน เนื้อส่วนท้องจะแล่บาง ๆ และเอาก้างออก ขั้นตอนทั้งหมดต้องทำอย่างรวดเร็ว
 จากนั้นโรยเกลือบนเนื้อปลาหรือจุ่มในน้ำเกลือ และล้างออกด้วยน้ำสะอาดเพื่อขจัดเกลือส่วนเกิน ต่อมานำไปแช่ในน้ำส้มปรุงรส
 ขั้นสุดท้าย นำเนื้อปลาเรียงในถังไม้ หรือแผ่บนถาด หรือภาชนะอื่น และบรรจุหีบห่อ

ที่เมืองโอบามะซึ่งติดกับอ่าววากาซะ (3) มีการทำประมงปลาซีบรีมกันอย่างแพร่หลายมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยเมจิ (4) เป็นต้นมา มีการจับปลาเร็งโกไดหรือปลาซีบรีมหลังเหลืองได้เป็นจำนวนมากเนื่องจากอิทธิพลของกระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นต้น
 เมืองโอบามะคือศูนย์กลางการประมงชายฝั่งของญี่ปุ่นที่ใกล้นครเกียวโตที่สุด เกียวโตเป็นแหล่งบริโภคหลัก ปลาที่จับได้จากโอบามะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจากเมืองนี้มาก ไม่ใช่เพราะเก็บได้นานเท่านั้น แต่เพราะความสดใหม่ของปลาด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเทคนิคในการผลิตโคไดซาซาซูเกะนั้นมีการคิดค้นขึ้นมาก่อนการมีตู้เย็น โดยควบคุมระยะเวลาการหมักให้พอเหมาะที่สุด รวมถึงปริมาณเกลือและน้ำส้มที่ใช้ใน 2 ขั้นตอนของการหมักด้วยเกลือและน้ำส้ม ผลดีที่ได้ไม่ใช่แค่เพียงอายุเก็บรักษายาวนานเท่านั้น แต่ยังให้รสชาติใกล้เคียงกับปลาสดอีกด้วย
 การใช้เครื่องจักรเพื่อแล่เนื้อปลาซีปรีมตัวเล็กเป็นสามชิ้นและเลาะก้างออกนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก อาหารชนิดนี้จึงทำโดยผู้ที่มีความชำนาญที่สามารถรักษาคุณภาพของ "โคไดซาซาซูเกะแห่งวากาซะโอบามะ" เอาไว้ได้
 ปี 1964 มีการจัดตั้ง "สมาคมโอบามะซาซาซูเกะ" ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน และในปีเดียวกันนั้นเอง ผลิตภัณฑ์จากโอบามะได้รับรางวัลชนะเลิศจากอธิบดีสำนักการประมง ใน "นิทรรศการผลิตภัณฑ์ทางทะเลแปรรูประดับชาติครั้งที่ 13"
 ในปี 2013 "สมาคมสหกรณ์โอบามะซาซาซูเกะ" จัดตั้งเป็นบริษัท ปัจจุบันนี้ ผลิตภัณฑ์ขององค์กรแห่งนี้ได้รับการยอมรับทั่วประเทศว่าเป็นสินค้าที่มีความพิเศษแห่งเมืองโอบามะ

  1. ชิราชิซูชิคือซูชิ: ที่ใช้วัตถุดิบต่าง ๆ โปะบนคำข้าวที่ปรุงรสด้วยน้ำส้ม
  2. เทมาริซูชิ: ข้าวปั้นเทมาริ ขั้นตอนการทำคือ วางวัตถุดิบต่าง ๆ บนข้าวปริมาณเท่าฝ่ามือเล็ก ปรุงด้วยน้ำส้ม จากนั้นห่อให้เป็นก้อน และปั้นเป็นลูกกลม ๆ
  3. อ่าววากาซะ: แผ่ขยายจากจังหวัดเกียวโตไปยังจังหวัดฟูกูอิ เกิดขึ้นจากการที่ทะเลญี่ปุ่นกัดเซาะลึกตามแนวชายฝั่ง นับเป็นตัวอย่างของชายฝั่งที่ถูกเกาะเซาะเว้าแหว่งซึ่งหาได้ยากตามแนวของชายฝั่งของญี่ปุ่น เป็นจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม
  4. สมัยเมจิ: ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1868 ถึง 1912 เริ่มขึ้นหลังการล้มล้างรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะและระบอบศักดินาสมัยเก่า เป็นการเริ่มต้นยุคปรับประเทศเข้าสู่สมัยใหม่ของญี่ปุ่น

Back to
top

เผยแพร่ความมีเสน่ห์อันน่าสนใจของผลิตภัณฑ์พิเศษแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น