Tokoro Pink Ninniku , TOKORO PINK GARLIC / กระเทียมสีชมพูโทโคโระ
Tokoro Pink Ninniku , TOKORO PINK GARLIC /
กระเทียมสีชมพูโทโคโระ
หมายเลขจดทะเบียน | 120 |
---|---|
ชื่อของ GI | Tokoro Pink Ninniku , TOKORO PINK GARLIC / กระเทียมสีชมพูโทโคโระ |
การแบ่งประเภท | ผัก ธัญพืช พัลส์ |
วันที่ลงทะเบียน | 2022/03/31 |
พื้นที่ทำการผลิต |
จังหวัดฮอกไกโด
เขตชุมชนโทโคโระ เมืองคิตะมิ |
ติดต่อที่อยู่ | JA Tokoro 608, Tokoro, Tokorocho, Kitami City, Hokkaido Prefecture |
พื้นที่ผลิต
"กระเทียมสีชมพูโทโคโระ" คือกระเทียมพันธุ์ดั้งเดิมของฮอกไกโดที่เพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยบุกเบิกเกาะฮอกไกโด เปลือกนอกมีสีชมพู มีกลิ่นและรสชาติดั้งเดิมของกระเทียมที่เข้มข้น ลักษณะเฉพาะอยู่ที่รสเผ็ดจัดเมื่อรับประทานสด
กระเทียมชนิดนี้มีปริมาณน้ำตาล สารประกอบกลิ่น และความเผ็ดที่มากกว่ากระเทียมชนิดอื่น ๆ ที่ซื้อขายกันทั่วไปในญี่ปุ่นและได้รับการประเมินจากตลาดและผู้บริโภคผู้ชื่นชอบรสเผ็ดและกลิ่นแรงของกระเทียมว่าเป็น "รสเผ็ดที่มีแรงกระตุ้น"
"กระเทียมสีชมพูโทโคโระ" ปลูกโดยใช้เกล็ดสำหรับเพาะพันธุ์ (ต่อไปเรียกว่า "เมล็ดพันธุ์") ที่ได้รับคัดเลือกและเพาะพันธุ์เป็น "กระเทียมสีชมพูโทโคโระ" ตามระบบการขยายพันธุ์ที่กำหนดโดยสหกรณ์การเกษตรเขตชุมชนโทโคโระ
การเพาะปลูกจะเป็นไปตามระบบการขยายพันธุ์ที่กำหนดโดยสหกรณ์การเกษตรโดยจะมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่เป็นระยะ
มาตรฐานการส่งขายคือจะคัดเลือกตามแนวทางการจัดการที่สหกรณ์การเกษตรกำหนดขึ้นสำหรับผลผลิตในแต่ละปี โดยจะคัดเลือกหัวที่ปราศจากโรคหรือแมลงและไม่มีริ้วรอยอื่นใดซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 มม. ขึ้นไปส่งขายในชื่อผลิตภัณฑ์ "กระเทียมสีชมพูโทโคโระ"
แหล่งผลิตตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลโอค็อตสค์(1) แต่ในฤดูหนาวจะมีธารน้ำแข็ง(2)เข้าเทียบชายฝั่งทำให้มีสภาพภูมิอากาศแบบภายในแผ่นดินซึ่งหนาวเย็นจัด นอกจากนี้ยังมีลมพัดแรงและมีหิมะปกคลุมน้อย พื้นดินจึงกลายเป็นน้ำแข็งและผิวดินแห้ง เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่ยากต่อการมีชีวิตอยู่ระหว่างฤดูหนาวสำหรับกระเทียมทั่วไป
แต่ในภูมิภาคแห่งนี้มีการเพาะปลูกกระเทียมมาตั้งแต่อดีตโดยใช้พันธุ์สีชมพูอันเป็นพันธุ์กระเทียมดั้งเดิมที่ทนต่อพื้นที่หนาวเย็นเหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง
เปลือกนอกของ "กระเทียมสีชมพูโทโคโระ" อุดมด้วยสารประกอบฟีนอลซึ่งเป็นสารต้นกำเนิดสีโทนแดง คาดว่าสารประกอบนี้ได้มาจากความเครียดจากสภาพแวดล้อมเนื่องด้วยความหนาวเย็นและความแห้งในฤดูหนาว เป็นหลักฐานพิสูจน์รสเผ็ดและกลิ่นแรงของกระเทียม ตลอดจนการที่เปลือกนอกมีสีชมพูในระยะเก็บเกี่ยวด้วย
แหล่งผลิตนี้เริ่มเพาะปลูกกระเทียมสีชมพูอย่างเป็นการเป็นงานตั้งแต่ปี 1962 เนื่องด้วยความเหมาะสมในการเพาะปลูกกระเทียมชนิดนี้ พื้นที่เพาะปลูกจึงเพิ่มขึ้นถึง 116 เฮกตาร์ในปี 1973 และได้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกระดับเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น หลังจากนั้น ราคาจำหน่ายได้ตกต่ำลงเนื่องจากรูปพรรณไม่เป็นที่ถูกใจผู้บริโภค ทั้งยังมีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรในงานเกษตรและปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกลดลงเหลือเพียง 0.9 เฮกตาร์
หลายปีที่ผ่านมา กระเทียมเป็นที่จับตามองในด้านศักยภาพในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตยา จึงเริ่มมีการทำสัญญาเพาะปลูก มีการยกระดับคุณภาพและปริมาณการเก็บเกี่ยวโดยระบบการขยายพันธุ์เฉพาะตัว ส่งผลให้สามารถฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกได้ถึง 11 เฮกตาร์ในปี 1994 และสามารถดำเนินการผลิตอย่างมีเสถียรภาพ
- ทะเลโอค็อตสค์ หมายถึงน่านน้ำทะเลที่ล้อมรอบด้วยเกาะซาฮาลินทางทิศตะวันตก ชายฝั่งตะวันออกของทวีปยูเรเซียทางทิศเหนือ คาบสมุทรคัมชัตคาทางตะวันออก และทิศใต้เป็นหมู่เกาะคูริลและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฮอกไกโด ส่วนของประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเรื่องธารน้ำแข็งที่จะได้ชมในฤดูหนาว ได้แก่ บริเวณเมืองคิตะมิและเมืองอาบาชิริ
- ธารน้ำแข็ง (ในทะเลโอค็อตสค์) หมายถึงน้ำแข็งจากทะเลที่ก่อตัวบริเวณปากน้ำที่มีน้ำหลั่งไหลเข้ามาจากแม่น้ำอามูร์ในฤดูหนาวซึ่งจะไหลลงมาทางใต้ตามชายฝั่งตะวันออกของเกาะซาฮาลินมาจนถึงชายฝั่งของเกาะฮอกไกโด ธารน้ำแข็งนี้เป็นหนึ่งในทัศนียภาพฤดูหนาวของญี่ปุ่น