Akutsu Magarinegi / ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ

Akutsu Magarinegi / ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ

หมายเลขจดทะเบียน 113
ชื่อของ GI Akutsu Magarinegi / ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ
การแบ่งประเภท ผัก ธัญพืช พัลส์
วันที่ลงทะเบียน 2022/02/03
พื้นที่ทำการผลิต จังหวัดฟุคุชิมะ
เมืองโคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ
ติดต่อที่อยู่

Akutsu Magarinegi Hozonkai (Akutsu Magarinegi Preservation Society)

50 Tategawa, Akutsumachi, Koriyama City, Fukushima Prefecture

พื้นที่ผลิต

"ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ" คือต้นหอม (1) รูปร่างโค้งงอเป็นทรงคันธนู มีลักษณะเฉพาะอยู่ที่ส่วนลำต้นสีขาวที่มีรสหวาน นิ่ม และมีความกลมกล่อมที่ชัดเจน ต้นหอมชนิดนี้ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่เน้นรสชาติกลมกล่อม (กรดกลูตามิกและกรดแอสพาร์ติก) ประมาณ 1.8 เท่า และมีปริมาณน้ำตาลประมาณ 1.7 เท่าของต้นหอมที่วางขายทั่วไป
 ต้นหอมชนิดนี้มีราคาจำหน่ายสูงกว่าต้นหอมชนิดอื่นที่ผลิตในโคริยามะราว ๆ 30%

"ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ" ปลูกโดยใช้เมล็ด "ต้นหอมอะคุตสึ" พันธุ์ดั้งเดิมที่ผู้ผลิตในสมาคมอนุรักษ์ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ เป็นผู้เก็บรวบรวมได้ในแปลงของตนเอง กรณีที่หาเมล็ดพันธุ์ได้ยากเนื่องจากภัยพิบัติหรือด้วยเหตุผลใด ๆ จะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ส่งเสริมการปลูกพืชสวนแห่งเมืองโคริยามะ
 "ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ" ได้รับการเพาะปลูกในแปลงภายในแหล่งผลิต ลักษณะเฉพาะของการปลูกต้นหอมชนิดนี้คือจะปลูกราว ๆ เดือนเมษายนถึงพฤษภาคมแล้วถอนออกครั้งหนึ่งราว ๆ เดือนสิงหาคมถึงกันยายน จากนั้นจะเป็นกระบวนการ "ยาโทอิ" ซึ่งเป็นการย้ายปลูกโดยนำต้นหอมที่ถอนออกมาวางเอียงประมาณ 45 องศาพักเอาไว้แล้วใช้ดินกลบด้านบน ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอาจเร็วขึ้นหรือช้าลงขึ้นอยู่กับสภาพการเจริญเติบโตของต้นหอม
 มาตรฐานการส่งขายคือส่วนลำต้นสีขาวจะต้องโค้งงอเป็นทรงคันธนูและต้องคัดต้นที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือต้นที่ใบเหี่ยวเฉาออก

ดินในเขตอะคุตสึซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดของต้นหอมชนิดนี้ส่วนมากเป็นดินเหนียวซึ่งต้นหอมจะเติบโตให้ต้นยาวได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่อดีตในพื้นที่นี้จึงทำการ "ยาโทอิ" ซึ่งเป็นการถอนต้นหอมออกครั้งหนึ่งในฤดูร้อนแล้วย้ายมาปลูกในแปลงที่เอียงเพื่อให้ได้ส่วนลำต้นสีขาวของต้นหอม (ซึ่งใช้รับประทานได้)
 วิธีเพาะปลูกเช่นนี้ได้ก่อกำเนิด "ต้นหอมมางาริเนงิ" ที่มีลักษณะเฉพาะอยู่ที่รสหวาน นิ่ม และกลมกล่อมอย่างเด่นชัด ต้นหอมที่เพาะปลูกในเขตอะคุตสึได้แพร่ขยายไปทั่วทั้งเมืองโคริยามะในช่วงต้นของยุคโชวะ และมีการก่อตั้ง "สมาคมอนุรักษ์ต้นหอมอะคุตสึ มางาริเนงิ" ในปี 2005 และมีการผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
 ในปี 2018 มีจำนวนผู้ผลิต 14 ราย พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3 เฮกตาร์ และส่งขายราว ๆ 45 ตันต่อปี

  1. ต้นหอมหรือต้นหอมยาวคือพืชที่มีต้นกำเนิดในภาคตะวันตกของประเทศจีนไปจนถึงเอเชียกลาง กล่าวกันว่านำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในยุคนารา (2) และรับประทานเป็นผักสืบทอดกันมาตั้งแต่นั้น ในญี่ปุ่นได้มีการผลิตต้นหอมตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและสร้างแบรนด์โดยนำชื่อท้องถิ่นนั้น ๆ มาตั้งเป็นชื่อต้นหอม
  2. ยุคนารา (ค.ศ. 710-794) หมายถึงยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น รวมระยะเวลา 84 ปีนับตั้งแต่จักรพรรดินีเก็มเมย้ายเมืองหลวงมายังเฮโจเคียว (เมืองนาราในปัจจุบัน) จนถึงการย้ายเมืองหลวงไปยังเฮอันเคียว (เมืองเกียวโต) ในปี 794 เป็นยุคสมัยของการจัดตั้งการปกครองตามระบบกฎหมายริตสึเรียวที่มีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางพร้อมกับความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมเท็มเปียวซึ่งมุ่งสร้างประเทศที่ได้รับความคุ้มครองจากพุทธศาสนาแห่งประเทศญี่ปุ่น

Back to
top

เผยแพร่ความมีเสน่ห์อันน่าสนใจของผลิตภัณฑ์พิเศษแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น